วันพุธที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2555

วันแม่แห่งชาติ

       12 สิงหาคม วันแม่แห่งชาติ




ความเป็นมาของวันแม่แห่งชาติในประเทศไทย
     วันแม่แห่งชาติ งานวันแม่จัดขึ้นครั้งแรกเมื่อวันที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2486 ณ สวนอัมพร โดยกระทรวงสาธารณสุข แต่ช่วงนั้นเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 งานวันแม่ในปีต่อมาจึงต้องงดไป เมื่อวิกฤติสงครามสงบลง หลายหน่วยงานได้พยายามให้มีงานวันแม่ขึ้นมาอีก แต่ก็ไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร และมีการเปลี่ยนกำหนดวันแม่ไปหลายครั้ง ต่อมาวันแม่ที่รัฐบาลรับรอง คือวันที่ 15 เมษายน โดยเริ่มจัดตั้งแต่ปี พ.ศ. 2493 แต่ก็ต้องหยุดลงอีกในหลายปีต่อมา เนื่องจากกระทรวงวัฒนธรรมถูกยุบไป ส่งผลให้สภาวัฒนธรรมแห่งชาติซึ่งรับหน้าที่จัดงานวันแม่ขาดผู้สนับสนุน
     ต่อมาสมาคมครูคาทอลิกแห่งประเทศไทย ได้จัดงานวันแม่ขึ้นอีกครั้ง ในวันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2515 แต่จัดได้เพียงปีเดียวเท่านั้น จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2519 คณะกรรมการอำนวยการสภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ จึงได้กำหนดวันแม่ขึ้นใหม่ให้เป็นวันที่แน่นอน โดยถือเอาวันเสด็จพระราชสมภพของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ วันที่ 12 สิงหาคมเป็นวันแม่แห่งชาติ และกำหนดให้ดอกไม้สัญลักษณ์ของวันแม่ คือ ดอกมะลิ นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
ทำไมจึงใช้ดอกมะลิเป็นดอกไม้ประจำวันแม่
     การที่ใช้ดอกมะลิ เป็นสัญลักษณ์วันแม่ ก็เพราะดอกมะลิเป็นดอกไม้ที่มีสีขาวบริสุทธิ์ มีกลิ่นหอมที่หอมไปไกลและหอมได้นาน ผลิดอกได้ทั้งปี อีกทั้งยังนำไปปรุงเป็นเครื่องยาหอมใช้บำรุงหัวใจได้ด้วย ซึ่งคุณสมบัติเหล่านี้เปรียบได้กับความรักอันบริสุทธิ์ลึกซึ้งที่แม่มีต่อลูก เป็นความรักที่เปี่ยมไปด้วยความเมตตากรุณาที่ไม่มีที่สิ้นสุด และไม่มีพิษมีภัย มีแต่ความชุ่มชื่นใจดั่งความหอมของดอกมะลิ




                                                           มะลิหอมน้อมวางข้างข้างตัก
                                                        กรุ่นกลิ่น "รัก" บริสุทธิ์ผุดผ่องใส
                                                          แทนทุกคำทุกถ้อยร้อยจากใจ
                                                     เป็นมาลัย "กราบแม่" พร้อมน้อมบูชา



กี่พระคุณจากใครอื่นนับหมื่นแสน
อาจทนแทนเปรยเปรียบเทียบคุณค่า
แต่พระคุณ"หนึ่งหยดน้ำนมมารดา"ทั้งสามภพจบหล้า...หาเทียมทัน


ลูกไม่อาจเอ่ยแสดงแถลงถ้อย
หรือเรียงร้อยพจนามาเสกสรรค์
เพื่อบรรยายพระคุณนี้ที่ "อนันต์"
จึงตั้งมั่น "กตัญญุตา" ตลอดไป
หนึ่งคำ "รัก" ลูกรักแม่ แม้ค่าน้อย
ต่างเพชรพลอย ตีราคาค่ามิได้
แต่แม่จ๋า... "รักที่หนึ่ง" ของหัวใจ
มิใช่ใคร "ลูก รัก แม่" แน่นิรันดร์




สัจจาภรณ์  ไวจรรยา(ผู้แต่ง)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น